227 จำนวนผู้เข้าชม |
อิฐแดง อิฐบล็อก อิฐมวลเบา เลือกอิฐแบบไหนให้เหมาะกับการก่อสร้าง?
ปัจจุบันมีอิฐก่อผนังให้เลือกใช้งานมากมาย ทั้ง อิฐแดง อิฐบล็อก และอิฐมวลเบา ซึ่งเรามักจะเจอกับคำถามที่ว่า อิฐชนิดไหนมีความแข็งแกร่งมากกว่า หรือควรเลือกใช้อิฐชนิดไหนดี กันอยู่บ่อย ๆ ใช่มั้ยล่ะครับ เพราะฉะนั้นวันนี้พี่อิฐเลยอยากมาบอกถึงข้อแตกต่างระหว่างอิฐแต่ละประเภท ทั้งคุณสมบัติ ข้อดี และข้อเสีย เพื่อให้ทุกคนเลือกใช้อิฐให้เหมาะสมกับงานได้ง่ายยิ่งขึ้น เพราะการเลือกใช้วัสดุที่ดี และใช่ ช่วยให้งานมีชัยไปกว่าครึ่ง
อิฐแดง หรือ อิฐมอญ
อิฐก่อสร้างยอดฮิตตลอดกาล มีส่วนประกอบหลักจากดินเหนียวปนทราย หรือขี้เถ้าแกลบ และน้ำมีความคุณสมบัติทนทาน แข็งแกร่ง และมีหลากหลายรูปแบบให้เลือกใช้งาน ทั้งแบบอิฐแดงตัน หนาแน่น เหมาะกับการก่อผนังที่ต้องการตอก เจาะ แขวนสิ่งของต่าง ๆ เช่น ผนังห้องน้ำ ผนังห้องครัว โดยไม่ต้องกลัวว่าจะเกิดการรั่วซึม หรืออิฐแดงชนิดมีรู มีทั้งอิฐแดง 2 รู อิฐแดง 4 รู เหมาะกับการก่อผนังทุกประเภท มีรูช่วยระบายอากาศ และรอยหวีที่ช่วยยึดจับปูนได้ดี แถมยังมีอิฐแดง มอก.77-2545 และ อิฐแดง มอก.153-2540 ซึ่งได้รับการตรวจสอบคุณภาพจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สามารถนำไปใช้งานได้อย่างมั่นใจ วัสดุในการก่อฉาบก็หาง่ายด้วย
อิฐบล็อก
อิฐสีเทาจากส่วนผสมระหว่างปูนซีเมนต์กับทราย ก้อนใหญ่ ถูกผลิตมาเพื่อใช้ในงานลักษณะก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมมากกว่าการนำไปสร้างที่อยู่อาศัย แต่ที่เราเห็นว่าช่างก่อสร้างมักนิยมใช้กัน เป็นเพราะอิฐบล็อกมีราคาถูก และขนาดใหญ่ ช่วยย่นระยะเวลาในการก่อสร้าง และประหยัดแรงงาน ซึ่งไม่ควรใช้อิฐบล็อกในการก่อผนังห้องน้ำ เพราะมีโอกาสรั่วซึมสูง ด้วยเนื้ออิฐบล็อกที่มีรูพรุนมาก มีการดูดซึมน้ำ และรับน้ำหนักได้น้อยกว่าอิฐชนิดอื่น ๆ อิฐบล็อกจึงเหมาะกับการก่อสร้างผนังโกดัง โรงงาน ที่ต้องการประหยัดงบประมาณ และต้องการงานที่เสร็จไว
อิฐมวลเบา
วัสดุก่อสร้างที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในปัจจุบัน อิฐมวลเบาผลิตจากปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์คุณภาพสูง ผสมกับทรายบดละเอียด ปูนขาว ยิปซั่ม ผงอะลูมิเนียม และน้ำ มีคุณสมบัติในการป้องกันความร้อน และน้ำหนักเบา ทำให้โครงสร้างไม่ต้องรับน้ำหนักมาก เหมาะกับการก่อผนังห้องที่ต้องการความเย็น เช่น ผนังห้องนอน ห้องนั่งเล่น อิฐมวลเบาแบบธรรมดาทั่วไปมีความพรุนในเนื้อสูง จึงไม่เหมาะกับการนำไปก่อผนังห้องน้ำ แต่ในปัจจุบันมีการผลิตอิฐมวลเบาแบบอบไอน้ำความดันสูง ทำให้ความพรุนในเนื้ออิฐลดลงแต่จะมีราคาที่ค่อนข้างสูงกว่าปกติ
ข้อเสียคือ อุปกรณ์ในการก่อฉาบ เจาะหรือยึด จะต้องเป็นอุปกรณ์สำหรับอิฐมวลเบาโดยเฉพาะอาจเกิดความไม่สะดวกในการทำงาน และช่างที่ทำการก่อสร้างต้องมีประสบการณ์ มีฝีมือที่ละเอียดในระดับหนึ่ง เพื่อให้ได้ผนังอิฐมวลเบาที่มีคุณภาพ
การเปรียบเทียบคุณสมบัติต่าง ๆ ของอิฐแต่ละประเภท
จำนวนการใช้งานต่อตารางเมตร และความรวดเร็วในการก่อสร้าง
ขนาดของตัวอิฐที่มีความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด ส่งผลต่อความรวดเร็วในการก่อสร้าง ซึ่งอิฐแดง ขนาดความกว้าง 5 – 6.5 ซม. x ความยาว 14 – 16 ซม. x ความสูง 2.5 – 6 ซม. ใช้ 120 – 135 ก้อน ต่อตารางเมตร ก่อได้ 6 – 12 ตารางเมตรต่อวัน อิฐบล็อก ขนาดความยาว 30 – 39 ซม. x ความสูง 19 ซม.ใช้ 12.5 ก้อน ต่อตารางเมตร ก่อได้ 15 – 20 ตารางเมตร ต่อวัน และอิฐมวลเบา ขนาดความยาว 60 ซม. x ความสูง 20 ซม. ใช้ 8.33 ก้อน ต่อตารางเมตร ก่อได้ 15 – 25 ตารางเมตร ต่อวัน
การสะสมความร้อน
ผนังจะอมความร้อนจากภายนอกหรือไม่ ขึ้นอยู่กับเนื้อในของวัสดุ ซึ่งอิฐแดงทำจากดินเผา มีความหนาแน่น จึงค่อนข้างอมความร้อนจากแสงอาทิตย์ ทำให้ผนัง และบรรยากาศในห้องร้อนกว่าการใช้อิฐชนิดอื่น ๆ แต่มีวิธีป้องกันความร้อนจากภายนอกได้มากมาย เช่น การก่อผนังอิฐ 2 ชั้น หรือการปลูกต้นไม้ป้องกันแสงแดด ส่วนอิฐบล็อก และอิฐมวลเบา เป็นวัสดุที่มีฟองอากาศ และมีรูพรุน จึงไม่อมความร้อนจากภายนอก ทำให้ผนัง และอากาศภายในห้องมีความเย็น ไม่ร้อนอบอ้าว
การกันเสียง ในกรณีที่ความหนาของผนังเท่ากัน
คุณสมบัตินี้ ขึ้นอยู่กับเนื้อในของวัสดุเช่นกัน ซึ่งอิฐแดงเป็นวัสดุที่มีความหนาแน่นสูง จึงค่อนข้างกันเสียงจากภายนอก และภายในได้ดี เหมือนกับอิฐมวลเบาที่มีสารกระจายฟองอากาศ เป็นฉนวนที่ช่วยป้องกันเสียง ส่วนอิฐบล็อกมีรูพรุนค่อนข้างมาก จึงป้องกันเสียงจากภายนอก และภายในได้น้อยกว่าอิฐชนิดอื่น ๆ
การเจาะ ตอก ยึด และความสามารถในการรับน้ำหนังของผนัง
สำหรับการเจาะ ตอก ยึด และความสามารถในการรับน้ำหนักนั้น ไม่ค่อยแตกต่างกันมากนัก ซึ่งเนื้อของวัสดุเป็นหนึ่งปัจจัยที่จะบ่งชี้คุณสมบัตินี้ อย่างอิฐแดงที่มีความหนาแน่น จะรับน้ำหนักได้มากกว่าอิฐบล็อกที่เนื้อของวัสดุค่อนข้างพรุน แต่ปัจจัยสำคัญอีกข้อ คือการเลือกใช้วัสดุในการเจาะ ตอก และยึดให้เหมาะสมกับวัสดุ เช่น อิฐแดง และอิฐบล็อก สามารถใช้พุกพลาสติกทั่วไปในการยึดได้ แต่อิฐมวลเบาจำเป็นต้องใช้พุกสำหรับอิฐมวลเบาโดยเฉพาะ จึงอาจยุ่งยากในการหาซื้ออุปกรณ์
อัตราการดูดซึมน้ำของวัสดุ
อัตราการดูดซึมน้ำ หมายถึงการที่วัสดุมีการดูดซึมน้ำจากภายนอก ซึ่งอิฐแดงมีอัตราการดูดซึมน้ำสูง เมื่อนำไปก่อ อาจจะไปแย่งน้ำจากปูนก่อ ทำให้ปูนแห้งตัวเร็วเกินไป และหดตัว ผนังที่ได้จะไม่แข็งแรง หรืออาจเกิดการแตกร้าวได้ในอนาคต วิธีแก้ไขคือการนำอิฐแดงไปแช่น้ำ หรือฉีดน้ำรดอิฐก่อนนำขึ้นก่อ เท่านี้ก็จะสามารถแก้ปัญหาการดูดซึมน้ำของตัวอิฐได้แล้วครับ
ค่าใช้จ่ายรวมในการก่อสร้างโดยประมาณ
ราคาของอิฐอาจแตกต่างกันอย่างชัดเจน แต่เมื่อรวมกับค่าแรงงานแล้วแต่พื้นที่ ถือว่ามีความใกล้เคียงกันอยู่มาก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจำนวน และความกว้างของพื้นที่ในการใช้งานด้วย ซึ่งอิฐบล็อก และ อิฐมวลเบา มีราคาต่อก้อนที่มากกว่าอิฐแดง แต่จำนวนการใช้ต่อตารางเมตรน้อยกว่า และใช้แรงงานในการก่อน้อยกว่า แต่ยังมีค่าอุปกรณ์เฉพาะของอิฐมวลเบา เช่น เกรียงก่อ เกรียงฟันปลา ค้อนยาง ปูนก่อ ปูนฉาบ ซึ่งการก่อผนังอิฐแดงไม่จำเป็นต้องซื้ออุปกรณ์ใหม่ เพราะเป็นสิ่งที่ช่างก่อสร้างทั่วไปมีอยู่แล้ว
ดังนั้นการเลือกใช้อิฐก่อผนังแต่ละประเภทจึงขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น งบประมาณที่ตั้งไว้ กำหนดระยะเวลาในการก่อสร้าง ประโยชน์การใช้สอย เช่น ความแข็งแรง หรือความสวยงาม ฝีมือและความชำนาญของช่าง ความสะดวกในการเลือกซื้ออุปกรณ์ต่าง ๆ และความชอบส่วนตัว ที่จะตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้ได้มากที่สุด
แหล่งที่มาข้อมูล : itdang2009.com/อิฐแดง-อิฐบล็อก-อิฐมวลเบ/